ข้อควรพิจารณาในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดผสมอาหาร ให้สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ

ข้อควรพิจารณาในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดผสมอาหาร ให้สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ

การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการฟาร์ม เพื่อใช้ในการรักษาและควบคุมโรคในปศุสัตว์ สามารถเลือกใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น การฉีด(เข้ากล้ามเนื้อ,เข้าใต้ผิวหนัง,เข้าเส้นเลือด), การกิน(ละลายน้ำหรือผสมอาหาร) เป็นต้น วิธีหนึ่งที่นิยมมากในการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ คือ การผสมยาปฏิชีวนะในอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก และง่ายในการจัดการ สำหรับยาปฏิชีวนะในรูปแบบผสมอาหารมีหลากหลายชนิด เช่น อะม็อกซิซิลลิน, ไทอะมูลิน, ทิลมิโคซิน, ด็อกซี่ซัยคลิน เป็นต้น การจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดบ้างผสมในอาหารแต่ละสูตรต้องพิจารณาตามโรคที่เกิดในแต่ละช่วงเวลา  และควรอยู่ภายใต้การควบคุมโดยสัตวแพทย์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมและไม่มากเกินความจำเป็น

หลังจากเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะที่ต้องการได้แล้ว  สิ่งต่อมาที่ต้องพิจารณาเพื่อให้ยาปฏิชีวนะที่เลือกใช้ออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพที่ควรจะเป็น  ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆดังนี้

1.แหล่งที่มาของเคมีภัณฑ์ที่นำมาใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์   โดยทั่วไปมักพิจารณาถึงประเทศหรือภูมิภาคที่ผลิตว่ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้  แต่ก็ไม่สามารถเหมารวมว่าเคมีภัณฑ์จากประเทศใดประเทศหนึ่งมีคุณภาพดีหรือไม่ดีเนื่องจากแต่ละประเทศหรือภูมิภาคมีผู้ผลิตหลายราย  ดังนั้นวิธีที่ดีทีสุดคือ “การใช้การรับรองคุณภาพจากหน่วยงานกลาง” ที่มีเกณฑ์การควบคุมคุณภาพของเคมีภัณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์การออกฤทธิ์ที่สูงกว่าเคมีภัณฑ์ทั่วไป เพื่อความมั่นใจว่าเคมีภัณฑ์นั้นๆมีคุณภาพดีจริง  หน่วยงานที่ให้การรับรองได้แก่ EDQM (European Directorate for the Quality of Medicines) ของยุโรป , USP (U.S. Pharmacopeial Convention) ของอเมริกา

ยกตัวอย่างเช่น อะม็อกซิซิลลิน ไตรไฮเดรต ในเกณฑ์ของ EDQM ต้องมีสารที่ไม่ออกฤทธิ์(Total impurity) ปนอยู่ไม่เกิน 3.0 % (ปกติพบได้ถึง10.0%)  หรือนีโอมัยซิน ซัลเฟต ต้องมีสารที่ไม่ออกฤทธิ์(Unspecified impurity) ไม่เกิน 1.0 % (เกณฑ์ทั่วไปไม่เกิน 15.0%) , ต้องมีสารออกฤทธ์คือ นีโอมัยซีน บี (Neomycin B) (ในรูปแห้ง)มากกว่า 670 µg/mg (เกณฑ์ทั่วไปมีมากกว่า 600µg/mg) เป็นต้น  จากตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเคมีภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานกลางจะมีมาตรฐานสูงกว่าและออกฤทธิ์ได้ดีกว่าเคมีภัณฑ์ทั่วไป

2.ความสามารถของเคมีภัณฑ์ในการทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร  เนื่องจากการให้ยาโดยวิธีผสมอาหาร ตัวยาปฏิชีวนะ จะต้องถูกให้ไปพร้อมกับอาหาร กลไกปกติของร่างกายเมื่อสัตว์กินอาหารจะมีการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพื่อย่อยอาหารที่กินเข้าไป  ยาปฏิชีวนะจึงมีการสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะเคลื่อนต่อไปยังลำไส้เล็กและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย  ดังนั้นยาปฏิชีวนะที่ให้พร้อมกับอาหารต้องสามารถทนกรดได้ในระดับหนึ่งหรือต้องมีการปรับปรุงรูปแบบของยาให้ทนต่อกรดได้

วิธีการทำให้ตัวยาทนต่อกรด เช่น การใช้วิธีทำแกรนูลและเคลือบ หรือการทำเป็นรูปอัดแน่น(compacted) เป็นต้น   ซึ่งจะแตกต่างกับการให้ยาโดยการละลายในน้ำกินหรือการป้อนยาโดยตรง(ไม่มีอาหารมาเกี่ยวข้อง) กระเพาะอาหารจะไม่มีการหลั่งกรดออกมาเหมือนขณะกินอาหาร  ดังนั้นตัวยาก็ไม่จำเป็นต้องทนกรดหรือเปลี่ยนรูปให้ทนต่อกรด  ดังเช่นการทดลองของ Dai,C. et al.,2017 ที่ทำการป้อนยาอะม็อกซี่ซิลลินในรูปแกรนูลและรูปผงให้สุกรกินโดยตรงขณะท้องว่าง (ไม่มีการให้อาหาร) พบว่าระดับยาในกระแสเลือดของสุกรทั้งสองกลุ่มมีระดับสูงไม่แตกต่างกัน(รูปที่ 1)

รูปที่ 1  แสดงระดับยาอะม็อกซี่ซิลลินในกระแสเลือดหลังป้อนยารูปแกรนูลและรูปผงโดยไม่ผสมกับอาหาร

การตรวจสอบการทนต่อกรดได้โดยการดูความเป็นกรด-ด่าง(pH)ของยาปฏิชีวนะ  ถ้าค่าพีเอชของยาเป็นกรดหรือค่อนไปทางกรดก็จะทนต่อสภาวะกรดได้มากกว่ายาที่ค่าพีเอชเป็นด่าง เช่น ไทอะมูลิน pH 3.1 – 4.1 และด็อกซี่ซัยคลิน      pH 2.0 – 3.0 จะชอบสภาวะกรดและมักออกฤทธิ์ได้ดีในสภาวะกรด   อะม็อกซี่ซิลลินจะคงตัวได้ดีที่ pH 5.0 – 7.0 ซึ่งสามารถทนกรดได้บ้างแต่ก็จะถูกทำลายไปบางส่วน   ส่วนไทโลซิน pH 4.0 – 9.0 ค่อนไปทางด่าง ยาจึงมีโอกาสถูกทำลายจากกรดในกระเพาะได้มาก เป็นต้น

จากการทดลองของ Anfossi,P. et al.,2002 ได้นำอะม็อกซี่ซิลลินแบบไมโครแกรนูล และแบบผง มาผสมกับอาหารและป้อนให้สุกรน้ำหนักประมาณ 31 – 41 กก.กินและวัดระดับยาในกระแสเลือด พบว่าสุกรที่กินอาหารผสมยารูปไมโครแกรนูลมีระดับยาในกระแสเลือดสูงกว่ายารูปแบบผง(รูปที่ 2)

รูปที่ 2 แสดงระดับยาอะม็อกซี่ซิลลินในกระแสเลือดหลังได้รับยาผสมอาหาร

เช่นเดียวกันกับการทดลองของ Menotta,S. et al.,2012 ที่นำอะม็อกซี่ซิลลินแบบไมโครเอ็นแคปซูเลชั่น และแบบผง มาผสมกับอาหารและป้อนให้สุกรน้ำหนักประมาณ 24.8 – 26.8 กก.กิน และวัดระดับยาในกระแสเลือด หลังจากนั้นหยุดยาและสลับกลุ่มสุกรทำการทดลองซ้ำ  แล้วนำค่าที่วัดได้นำมาหาค่าเฉลี่ย พบว่าสุกรที่กินอาหารผสมยารูปไมโครเอ็นแคปซูเลชั่น มีระดับยาในกระแสเลือดสูงกว่ายารูปแบบผง(รูปที่ 3)

รูปที่ 3 แสดงระดับยาอะม็อกซี่ซิลลินในกระแสเลือดหลังได้รับยาผสมอาหาร

ดังนั้นในกลุ่มยาที่ไม่ทนกรดหรือทนได้ปานกลาง หากจะให้ยาโดยวิธีการผสมอาหารต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของยาเป็นรูปแบบที่ทนต่อกรดได้มากขึ้นจากขนาดที่ใหญ่ขึ้น และพื้นที่ผิวสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารน้อยลง เช่น  การใช้วิธีทำแกรนูล(granulation) หรือการทำเป็นรูปอัดแน่น(compacted) เป็นต้น เพื่อให้ยาสามารถไปดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น  และยังทำให้ฟาร์มไม่เสี่ยงกับการเกิดเชื้อดื้อยาภายในฟาร์มจากการใช้ยาต่ำกว่าขนาดที่ควรเป็นเนื่องจากยาถูกทำลายจากกรดในกระเพาะอาหาร
ตารางที่
1 เปรียบเทียบคุณสมบัติของอะม็อกซี่ซิลลินในรูปแบบต่างๆ


 

โดย น.สพ.อธินาถ รุ่งเรือง, น.สพ.ศุภนัฐ ไชยวิเชียร และน.สพ.กิตติพัฒน์ อังโชคชัชวาล ทีมวิชาการ บ.โนวาเมดิซีน จำกัด

เอกสารอ้างอิง

– Anfossi,P., Zaghini,A., Grassigli,G., Menotta,S., and Fedrizzi,G. 2002. Relative oral bioavailability of microgranulated amoxicillin in pigs.J. vet. Pharmacol.Therap.25, 329–334.
– Dai,C., Zhao,T., Yang,X., Xiao,X., Velkov,T., and Tang,S. 2017. Pharmacokinetics and relative bioavailability of an oral amoxicillin-apramycin combination in pigs.PLoS ONE.12(4): e0176149.
– Menotta,S., Pini,P., Fedrizzi,G., Bortolazzi,P., Quintavalla,F., and Alborali,G. 2012. Bioavailability of coated amoxicillin in pigs field experiences. Large Animal Review 2012; 18: 253-258.

Share this post